วันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ตัวอย่าง เทคนิคการปลูกข้าว ภาคใต้

1. พันธุ์ข้าวและเมล็ดพันธุ์ ; พันธุ์ข้าวที่ใช้ตามความต้องการของผู้บริโภค คือ ช่อเบา เหลืองจำปา ไข่มดริ้น ช่วงหลังปี พ.ศ. 2547 มีพันธุ์ เล็บนกปัตตานี สังข์หยด และปทุมธานี 1 ระยะแรกใช้เมล็ดพันธุ์จากศูนย์ขยายพันธุ์พืช และ ศูนย์วิจัยข้าวในพื้นที่และการปลูกข้าวเพื่อทำเมล็ดพันธุ์เองบ้างในปัจจุบัน

2. การเตรียมดินและวิธีปลูก ; ใช้รถแทรกเตอร์ไถเตรียมดินช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ในนาหว่านข้าวแห้งซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกประมาณ 30 % จะไถแปรโดยใช้รถไถเดินตาม หว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวประมาณ 15 กก./ไร่ แล้วคราดกลบ ในเดือนสิงหาคม ส่วนนาดำที่ส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณที่ดอน จะตกกล้าในเดือน กรกฎาคม แล้ว ไถแปร คราดน้ำขัง แล้วถอนกล้าข้าวมาปักดำในเดือน สิงหาคม

3. การจัดการความอุดมสมบูรณ์ของดิน ; ในเบื้องต้นมีการไถกลบตอซังข้าวในนา นำฟางข้าวมาทำเป็นปุ๋ยหมักผสมกับปุ๋ยคอกแล้วนำกลับไปใส่ในนา มีการเลี้ยงวัวแล้วนำมูลวัวมาซึ่งได้ผลดีในบางปีขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนต้นฤดู การจัดการดินและใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ดังกล่าว อยู่ภายใต้แนวคิด “รักษาสถานะความอุดมสมบูรณ์ของดินให้ยั่งยืน”

4. การควบคุมน้ำและควบคุมวัชพืช ; การทำนาดำช่วยควบคุมวัชพืชได้เป็นอย่างดี แต่ในพื้นที่นาลุ่มที่วัชพืชไม่รุนแรง สามารถทำนาหว่านข้าวแห้งช่วยลดต้นทุนค่าแรงงานได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามการดูแลคันนาเพื่อรักษาระดับน้ำขังในนาให้พอดีกับการเจริญเติบโตของข้าว ก็เป็นการควบคุมวัชพืชอย่างได้ผล รวมทั้งมีผลต่อความแข็งแรงของต้นข้าวด้วย

5. การป้องกันกำจัดศัตรูข้าว ; ศัตรูข้าวที่สำคัญในพื้นที่นี้ คือ ในระยะแรกของการเจริญเติบโตของข้าว ปู และหอยเชอรี่ ซึ่งเกษตรกรแก้ไขโดยการลดระดับน้ำในนา จับมาบริโภคหรือทำน้ำหมักชีวภาพ ในระยะข้าวแตกกอมีหนอนกอทำลายรุนแรงในบางปี ซึ่งยังไม่มีการป้องกันกำจัด อย่างไรก็ตาม จากการสังเกตพบว่า ต้นข้าวอินทรีย์ที่ไม่ได้รับปุ๋ยเคมี มีความแข็งแรงและทนทานต่อโรคไหม้ได้ดีกว่าข้าวที่ใส่ปุ๋ยเคมี ข้าวที่ปลูกแบบหว่านข้าวแห้งมีการทำลายของแมลงบั่วน้อยกว่าข้าวนาดำ

6. การจัดการก่อนและหลังเก็บเกี่ยว ; คุณภาพของข้าวได้รับผลกระทบจากขั้นตอนนี้มาก โดยเฉพาะจากการตกของฝนช่วงก่อน – หลังการเก็บเกี่ยว อย่างไรก็ตาม การจัดการแบบดั้งเดิมก็ใช้ได้ผลดี คือ ระบายน้ำออกนาให้แห้งพอดีในช่วงที่ข้าวสุกแก่ ใช้คนเก็บเกี่ยวแล้วตากสุ่มซัง 3-4 วัน หลังจากนั้นนำมารวมกองไว้รอคนนวดหรือใช้เครื่องนวด กองไว้ได้นานกว่า 30 วัน โดยข้าวยังคงมีคุณภาพดี การใช้เครื่องนวดข้าวจะต้องระวังกรณีที่เปลี่ยนจากพันธุ์ข้าว เพราะจะเกิดการปนของข้าวที่ติดอยู่ในเครื่องนวด จึงต้องเป่าหรือล้างทำความสะอาดเครื่องนวดก่อน ข้าวเปลือกที่ได้จะมีความชื้นเฉลี่ย 13-15 % ตามมาตรฐาน นำไปเก็บรักษาในยุ้งฉางหรือใส่กระสอบป่านที่ทำความสะอาดและคัดชิ้นส่วนข้าวที่ติดมากับกระสอบเดิมแล้ว

7. ระบบพืช/ระบบเกษตร ; ยังไม่มีการพัฒนาในด้านระบบพืช เนื่องจากเป็นพื้นที่นาน้ำฝน ทำให้การปลูกพืชฤดูแล้งทำได้ยาก จึงไม่มีเพียงพืชก่อนนา พื้นที่นาหลังการเก็บเกี่ยวข้าวส่วนใหญ่จะปล่อยสัตว์เลี้ยง คือ วัว เข้าไปกินหญ้าและฟางข้าวเป็นอาหาร

ไม่มีความคิดเห็น: